วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

ชื่อผลงานวิจัย การวิจัยประเมินความต้องการจำเป็นแบบสมบูรณ์เพื่อพัฒนาครูมืออาชีพ

ชื่อผลงานวิจัย การวิจัยประเมินความต้องการจำเป็นแบบสมบูรณ์เพื่อพัฒนาครูมืออาชีพ
หัวข้อ(Eng) A COMPLETE NEEDS ASSESSMENT RESEARCH FOR PROFESSIONAL
คำสำคัญ(keyword) การประเมินความต้องการจำเป็นแบบสมบูรณ์/ครูมืออาชีพ
ชื่อผู้วิจัย พิมพ์ลักษณ์ เฮงสมบูรณ์
ชื่อผู้วิจัย(Eng) Pimluck Hengsomboon
ตำแหน่ง นิสิต
การศึกษา ปริญญาโท
สถานที่ติดต่อ 2506/18-19 JJ-House ถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
สถานศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2551


ประวัติความเป็นมา (History)
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้ความสำคัญในการพัฒนาครูและคุณภาพของครูดังปรากฏในหมวด 7 (มาตรา 52) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูงและกำหนดให้มีองค์กรวิชาชีพครูมีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครูเป็นการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานของครูให้สอดคล้องกับมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพเพื่อให้การปฏิบัติงานของครู อาจารย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2544) โดยให้มีการปฏิรูปกระบวนการพัฒนาครูที่มีอยู่ควบคู่กับการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้คนดีคนเก่งมาเป็นครู ความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะการปฏิรูปครู ตั้งแต่กระบวนการผลิตครู กระบวนการใช้ครู การพัฒนาและการรักษามาตรฐานวิชาชีพครู เนื่องมาจากครูยังไม่มีคุณลักษณะตามที่สังคมต้องการและครูยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์จนเกิดปัญหากับครูประกอบกับสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการพัฒนาครูเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากผลงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติร่วมกับสวนดุสิตโพล 2545 (อ้างถึงในไพลวัลย์ ชินโณ, 2547) พบว่า คุณภาพของครู ความรู้ ความสามารถ ความศรัทธา อุดมการณ์ และเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู อยู่ในระดับที่ควรปรับปรุงแก้ไข และต้องเร่งพัฒนา ด้วยความตระหนักในความสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการพัฒนาครูในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว คุรุสภาในฐานะสถาบันวิชาชีพครูจึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ครูจึงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ เห็นได้ว่าปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การปฏิบัติงานของครูที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของงานที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมากและเป็นขั้นตอนในการวางแผนการพัฒนาบุคลากร คือ การประเมินความต้องการจำเป็นการประเมินความต้องการจำเป็น (needs assessment) เป็นกระบวนการเพื่อกำหนดความแตกต่างระหว่างสภาพที่มุ่งหวัง (what should be) กับสภาพที่เป็นอยู่จริง (what is) (สุวิมล ว่องวาณิช, 2548) โดยระบุสิ่งที่ต้องการให้เกิดว่ามีลักษณะเช่นใด และประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่าสมควรเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาว่ามีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงานด้านใด ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพและทางเลือกในการแก้ปัญหาความต้องการจำเป็นมีอะไรบ้าง ทางเลือกใดมีความเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาครูเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและพัฒนาเป็นครูมืออาชีพต่อไป
วัตถุประสงค์(Objective)
1. เพื่อกำหนดความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพ
2. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพ
3. เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพที่
กลุ่มตัวอย่าง(Sample)
ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน 440 คน
เครื่องมือ (Tool)
แบบสอบถาม
การวิเคราะห์ (Analysis)
วิเคราะห์ระดับการปฏิบัติงานของครูด้วยสถิติพื้นฐาน การประเมินความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของครูโดยใช้ดัชนี (PNIModified) วิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุด้วยค่าสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสังเกตได้ โดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows และตรวจสอบความตรงของโมเดลเชิงสาเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงาน และโมเดลแนวทางการพัฒนาครูที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงาน ด้วยโปรแกรม ลิสเรล (LISREL for Windows) และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ข้อสรุป (Summary)
1. การปฏิบัติงานของครูมืออาชีพ จำแนกตามแต่ละด้านของการปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานของครูมืออาชีพด้านการวางแผนและการเตรียมการสอน ด้านการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน ด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านความรับผิดชอบในวิชาชีพอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาในแต่ละด้านพบว่า ด้านที่ครูมีการปฏิบัติค่อนข้างสูงที่สุด คือ การจัดการเรียนการสอน รองลงมา คือ การวางแผนและการเตรียมการสอน ตามด้วยการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน และความรับผิดชอบในวิชาชีพเป็นด้านที่ครูมีการปฏิบัติน้อยที่สุด
2. การประเมินความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของครูมืออาชีพ
1) ความต้องการจำเป็นในการวางแผนและการเตรียมการสอนที่สำคัญที่สุด คือ การกำหนดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ รองลงมา ได้แก่ การสืบค้นข้อมูลและแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมจากชุมชนและท้องถิ่น
2) ความต้องการจำเป็นในการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่สำคัญที่สุด คือ การจัดมุมการเรียนรู้ในห้องเรียนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างสนุกสนาน รองลงมา ได้แก่ การร่วมกันจัดป้ายนิเทศและมุมการเรียนรู้ภายในห้องเรียน
3) ความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญที่สุด คือ การใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมกับกิจกรรม เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละบุคคล/แต่ละกลุ่ม รองลงมา ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดและร่วมกันอภิปรายในหัวข้อเรื่องที่ท่านทำการสอนอยู่
4) ความต้องการจำเป็นในความรับผิดชอบในวิชาชีพที่สำคัญที่สุด คือ การเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการเป็นวิทยากรให้ความรู้กับประชาชนในชุมชน รองลงมา ได้แก่ การเผยแพร่ผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนให้แก่เพื่อนครู/หน่วยงานอื่นที่สนใจและเกี่ยวข้อง โดยสรุป เมื่อพิจารณาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงานในแต่ละด้าน พบว่า ด้านความรับผิดชอบในวิชาชีพ เป็นด้านที่มีความต้องการจำเป็นสูงที่สุดที่ครูควรได้รับการพัฒนา รองลงมา ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน การวางแผนและการเตรียม การสอน และการจัดการเรียนการสอน ตามลำดับ
3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงาน เมื่อพิจารณาอิทธิพลรวมที่ส่งผลต่อปัจจัยความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงาน (NEEDS) ในตารางที่ 4.19 พบว่า ปัจจัยด้านตัวครู ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีขนาดอิทธิพลทางลบและมีค่าน้ำหนักเท่ากับ 0.73 โดยค่าน้ำหนักองค์ประกอบของตัวแปรสังเกตได้ของตัวแปรแฝงภายนอกด้านตัวครู ทุกตัวมีค่าแตกต่างจากศูนย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยตัวแปรที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมากที่สุด คือ ทัศนคติในการปฏิบัติงาน มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 1.00 รองลงมา คือ ชีวิตครอบครัว มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.99 ภาระงานของครู มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.87 และแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.83 กล่าวคือ ครูที่มีทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงาน มีชีวิตครอบครัวที่ดี มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมาก และมีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานมาก มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงานน้อย ส่วนปัจจัยด้านภูมิหลัง ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม พบว่า ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่า ปัจจัยด้านภูมิหลังและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมไม่มีอิทธิพลต่อตัวแปรความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงาน โดยโมเดลเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาการปฏิบัติงานของครูที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยให้ค่าไค-สแควร์ เท่ากับ 59.11 ที่องศาอิสระเท่ากับ 56 ที่ระดับความน่าจะเป็นเท่ากับ 0.36264 มีค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ 0.98 ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ 0.96 และค่าดัชนีกำลังสองของส่วนเหลือ (RMR) เท่ากับ 0.02 ตัวแปรในโมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนของความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพได้ ร้อยละ 7 4. แนวทางในการแก้ไขปัญหาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงาน จากการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงานด้วยโปรแกรมลิสเรล พบว่า ตัวแปรแนวทางการพัฒนาครู มีขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.08 ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ตัวแปรสังเกตได้ของตัวแปรแฝงภายนอกแนวทางการพัฒนาครู ทุกตัวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยแนวทางการพัฒนาครูด้วยการมีพี่เลี้ยง/ผู้เชี่ยวชาญแนะนำงาน มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.94 ซึ่งมีความสำคัญและมีแนวโน้มที่จะเป็นแนวทางการพัฒนาครูได้ดีที่สุด รองลงมา คือ การสัมมนาวิชาการ มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.83 การฝึกอบรมโดยบุคลากรภายนอก มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.74 การศึกษาดูงาน มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.70 การจัดสัปดาห์วิชาการ มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.70 การฝึกอบรมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.66 การปะชุมเชิงปฏิบัติการ มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.62 การฝึกอบรมโดยหน่วยงานเอกชน มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.58 และการฝึกอบรมโดยบุคลากรภายในโรงเรียน มีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.54 ซึ่งเป็นแนวทางที่มีแนวโน้มน้อยที่สุดในการพัฒนาครู โดยโมเดลแนวทางการพัฒนาครูมืออาชีพในการปฏิบัติงานที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์โดยให้ ค่าไค-สแควร์ เท่ากับ 47.21 ค่าองศาอิสระเท่ากับ 42 ที่ระดับความน่าจะเป็นเท่ากับ 0.26804 มีค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ 0.98 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ 0.96 และค่าดัชนีกำลังสองของส่วนเหลือ (RMR) เท่ากับ 0.03 ตัวแปรในโมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนของแนวทางการพัฒนาครูได้ร้อยละ 1 และเมื่อดูจากข้อมูลเชิงบรรยาย พบว่า ตัวแปรที่คาดว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาครูมากที่สุด คือ การฝึกอบรมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ข้อเสนอแนะ(Suggestion)
1.การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะครูในเขตกรุงเทพมหานคร จึงน่าจะมีการศึกษาการพัฒนาการปฏิบัติงานของครูมืออาชีพในส่วนภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันของสภาพแวดล้อมของโรงเรียนด้วย เพื่อให้ได้ข้อสารสนเทศที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
2.จากการศึกษาที่พบว่าครูมีความต้องการจำเป็นในด้านความรับผิดชอบในวิชาชีพมากที่สุด ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาและวิจัยรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินการพัฒนาด้านความรับผิดชอบในวิชาชีพของครูเพื่อให้การพัฒนาการปฏิบัติงานของครูเกิดประโยชน์สูงสุด
3.ผลการวิเคราะห์โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูในครั้งนี้ พบว่า ตัวแปรในโมเดลสามารถร่วมอธิบายความแปรปรวนของการพัฒนาครูได้ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงน่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อค้นหาตัวแปรประเภทอื่นที่จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของครู
4.ในการวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาครูในส่วนของการพัฒนาครู ให้ครูมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงาน และควรที่จะนำแนวทางที่ได้ไปทำการทดลองปฏิบัติ และทำการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแนวทางการพัฒนาครู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น